วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2565

มารู้จัก ไวรัส RSV กับ ไข้หวัด อาการต่างกันอย่างไร

 

อาการติดเชื้อไวรัส RSV มีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดธรรมดามาก แต่หากเป็น RSV แล้วไม่รีบรักษา อาจมีอาการหนักได้ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก

เชื้อไวรัส RSV พบการติดเชื้อได้ในเด็กเล็กค่อนข้างบ่อยกว่าในผู้ใหญ่ หากไม่สังเกตอาการให้ดี พ่อแม่อาจคิดว่าเป็นโรคไข้หวัดธรรมดา และอาจไม่ได้ให้เด็กเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี จนทำให้มีอาการหนักขึ้นได้ ดังนั้นการสังเกตอาการและความแตกต่างระหว่างการติดเชื้อ RSV และไข้หวัดธรรมดาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

เชื้อ RSV คืออะไร

RSV คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน และเมื่อป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน

กลุ่มเสี่ยงเชื้อ RSV

กลุ่มเสี่ยงเชื้อ RSV มักเป็นเด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ป่วยที่กำลังรับประทานยาลดภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงผู้สูงอายุ

อาการของการติดเชื้อ RSV กับ ไข้หวัดธรรมดา แตกต่างกันอย่างไร

ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อาการของผู้ป่วยเมื่อติดเชื้อ RSV มีความใกล้เคียงกับอาการของโรคไข้หวัดธรรมดาค่อนข้างมาก เช่น มีไข้ ตัวร้อน ไอ จาม แต่สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ RSV จะมีอาการเพิ่มเติมที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  1. ตัวเขียว
  2. ไอหนักกว่าปกติ
  3. หอบเหนื่อย
  4. หายใจเร็ว หรือหายใจแรง จนหน้าอกบุ๋ม
  5. มีเสมหะมาก
  6. เด็กมีอาการซึมลง กินน้อยลง หรืออารมณ์ไม่ดีผิดปกติ

ดังนั้น หากพบว่าเด็กมีอาการดังกล่าว ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาโดยละเอียด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียจนอาจผลให้เสียชีวิตได้

วิธีป้องกันการติดเชื้อ RSV

เบื้องต้นสามารถป้องกันการติดเชื้อ RSV ได้เหมือนกับการป้องกันจากโรคไข้หวัดปกติ แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่

  1. ล้างมือบ่อยๆ ทั้งเด็ก พ่อแม่ และผู้ดูแล และสอนให้เด็กล้างมืออย่างถูกวิธี
  2. หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในที่แออัด หรือที่ที่มีเด็กรวมอยู่กันเป็นจำนวนมาก
  3. หากเด็กมีอาการคล้ายไข้หวัด ควรงดพาเด็กออกนอกบ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส
  4. สอนให้เด็กใส่หน้ากากอนามัย (ในวัยที่ใส่ได้) ทุกครั้งที่มีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ จาม
  5. หากมีเด็กอยู่ร่วมกันมากกว่า 1 คน เช่น พี่น้อง ควรแยกกันเพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อด้วยกันทั้งคู่
  6. ทำความสะอาดบ้าน สิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น และของใช้ส่วนตัวของเด็กบ่อยๆ
  7. ดื่มน้ำมากๆ
  8. พักผ่อนให้เพียงพอ



















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น